เปลี่ยนความเฉื่อยชาในห้องเรียน
จาก “สวนสัตว์” สู่ “ป่า” เปลี่ยนความ“เฉื่อยชา” เป็น“ชีวิตชีวา”ในห้องเรียน เคยมีคนกล่าวว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาจากการลองผิดลองถูกของตัวเองและสมาชิกในสังคม มนุษย์เรียนรู้จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งในชีวิตจริงและชีวิตสมมุติ เราเรียนรู้บทเรียนจาก“ครู” หลายคน ตั้งแต่สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงตัวละครในนิยาย เราติดตามตัวเอกในหนังราวกับเป็นชีวิตของตัวเอง เราลุ้นว่า“ตัวแทน” ของเราจะจัดการกับเงื่อนไขต่างๆ จนนำไปสู่จุดคลี่คลายอย่างไร เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับตัวละครว่า อะไรทำแล้ว“เวิร์ก” อะไรทำแล้ว“ไม่เวิร์ก”ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการนั่งเรียนในห้อง เพียงแต่ขนาดใหญ่กว่าปกติก็เท่านั้นเอง ดังนั้นคงไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่าคือ เราทุกคนคือนักเรียนโดยธรรมชาติ พอพูดถึงนักเรียน หลายคนคงคิดถึงห้องเรียน ซึ่งเป็นธรรมดาที่มีทั้งเด็กที่“สนใจเรียน”และ“ไม่สนใจเรียน” กลุ่มหนึ่งดูตื่นเต้นเอาเป็นเอาตายกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้อง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมานั่งในห้องเพียงเพราะเป็นหน้าที่ในชีวิตประจำวันที่ต้องทำให้เสร็จ กลุ่มหนึ่งกระหายและมีชีวิตชีวาราวสัตว์ป่า กลุ่มหนึ่งเชื่องเฉื่อย ไร้ชีวิต คล้ายสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์มานาน ฉะนั้นการที่บางคนสนใจเรียน ขณะที่บางคนไม่สนใจ ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ว่า“เขาไม่สนใจเรียน” แต่เขาเหล่านั้น“ถูกทำให้เชื่องต่างหาก” คำถามต่อมาคือ อะไรและใครทำให้นักเรียนเหล่านั้นเชื่อง? . แต่ก่อนจะไปสู่คำถามนั้น ผมอยากชวนพวกเรามาทำความรู้จักกับ“ความเชื่อง”ก่อน เมื่อพูดถึง“ความเชื่อง”เคยตั้งข้อสังเกตกันไหมครับ หลายครั้งเราเผลอทำเรื่องเดิม ด้วยวิธีการเดิม และพบข้อผิดพลาดเหมือนเดิม เราพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้บทเรียนใหม่จากเรื่องเก่า เพราะความคุ้นชินนั้นแสนสบายกว่าการปรับตัวเป็นไหนๆ เราจึงเลือกที่จะอยู่เชื่องๆ ไม่ถือสาหาความกับชีวิต หรือคอยตั้งคำถามให้สมองต้องรกรุงรัง … เขาว่าให้ฟังครู จำข้อมูลเข้าห้องสอบให้ได้มากที่สุด สอบเสร็จค่อยทิ้ง […]