กิจกรรมเวทีสาธารณะสัญจร ครั้งที่ 2
“เด็กเจนใหม่กับโรคขาดธรรมชาติ : เรียนรู้พลังแห่งการเยียวยาจากป่าเขาลำเนาไพร”
โครงการครูกล้าสอน : การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
27ก.พ. 2563 ณ ห้องประชุม LA 107 คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โครงการครูกล้าสอน : การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะสัญจร Spiritual Talk Journey ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “เด็กเจนใหม่กับโรคขาดธรรมชาติ : เรียนรู้พลังแห่งการเยียวยาจากป่าเขาลำเนาไพร” ประกอบหนังสือ “เด็กคนสุดท้ายในป่า เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างโรคขาดธรรมชาติ” แปลจาก “Last Child in the Woods : Saving Our Children from Nature – Deficit Disorder” เขียนโดย ริชาร์ด ลุฟว์ แปลโดยดรุณี แซ่ลิ่ว ซึ่งได้จัดกิจกรรม เมื่อวันพฤ.ที่ 27กุมภาพันธ์2563 ตั้งแต่ 13.00 – 16.30 น. ที่ห้องประชุมLA 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กิจกรรมในครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจร่วมงานประมาณ30 คน เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และผู้จัดการเรียนรู้ให้แก่เด็ก
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาจัดกิจกรรม สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส อยู่ในระยะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทำให้มีการยกเลิกสถานที่จัดกิจกรรมเดิม ซึ่งกำหนดจัดที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้ต้องย้ายสถานที่จัดงานในระยะเวลากระชั้นชิด ส่งผลให้ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมส่วนหนึ่งเป็นผู้ปกครองและครูโรงเรียนรุ่งอรุณ ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมได้
แต่เพื่อให้เนื้อหากิจกรรมได้รับการเผยแพร่ไปยังสาธารณะ จึงได้จัดให้มีการถ่ายทอดสดทาง FB Live เพื่อให้ผู้สนใจ ได้รับชมทางออนไลน์ รวมทั้งจัดทำคลิปวิดิโอ เผยแพร่เนื้อหาในภายหลัง
เวทีสาธารณะฯ มีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมอง จากประสบการณ์การทำงาน ที่น่าสนใจ คือ
- พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.นครธน
- คุณนิคม พุทธา ผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาวผู้จัดกิจกรรม “ด.เด็กเดินป่า”
- คุณณัฐฬส วังวิญญู กระบวนกร ผู้จัดการเรียนรู้ และการเยียวยาในผืนป่า “นิเวศภาวนา”
- คุณศุภสิริ มุตตามระ นักสิ่งแวดล้อมศึกษา ผู้เติบโตมาจากการเรียนรู้ในธรรมชาติ
วิทยากรแต่ละท่านได้เสนอมุมมองความคิดจากประสบการณ์การทำงาน เพื่อต่อยอดแนวความคิดจากหนังสือ เริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลสถานการณ์ความป่วยไข้ทางด้านจิตใจของเด็กและวัยรุ่น จาก พญ.กุลนิดา ที่พบว่า เด็กที่มีอาการป่วยทางจิตใจอายุน้อยลง เพียงแค่ 1-2 ขวบ ไปจนถึงวัยเรียนและวัยรุ่น ซึ่งพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ยุคใหม่ ที่ไม่มีเวลาในการดูแลเอาใจใส่ หรือใช้เวลาคุณภาพกับลูก ในขณะที่คุณศุภสิริ นักสิ่งแวดล้อมศึกษา บอกเล่าประสบการณ์ในวัยเด็ก ที่เติบโตมาในระบบการศึกษาทางเลือก ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งได้มีโอกาสเรียนรู้ในพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติ มีผลในการบ่มเพาะให้มีความสนใจอยากศึกษาเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับผู้ที่ร่ำเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ อย่างวิศวะฯ คุณณัฐฬส ก็สนใจใคร่รู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ได้เห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ พลังของธรรมชาติที่จะช่วยฟื้นฟู เยียวยา ทำให้มนุษย์เรามีความสมดุลมากขึ้น การรับฟังธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เปิดรับความเป็นไปของธรรมชาติให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงเข้าสู่ตัวตนภายในของเรา ก็อาจเป็นการค้นพบคุณค่า ความหมาย และคำตอบบางอย่างในชีวิต
การเรียนรู้ในธรรมชาติที่ดี ไม่ใช่การเรียนรู้จากตำรา หรือสื่ออื่นๆ หากแต่การเข้าไปสัมผัสผ่านประสาทสัมผัสของตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจ เป็นการเรียนรู้ในการสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับธรรมชาติได้ล้ำลึก
สำหรับคุณนิคม ก็ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานอนุรักษ์ผืนป่า และใช้พื้นที่ป่า ที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ ส่งต่อความรู้ความเข้าใจและการเข้าถึงธรรมชาติให้แก่ผู้คนมาแล้วหลายรุ่น ทั้งยังเห็นว่า การใช้พื้นที่ธรรมชาติในแต่ละสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความหลากหลาย มีสิ่งที่น่าสนใจที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ได้ ความมหัศจรรย์ในธรรมชาติมีอยู่ทั่วไป น่าเสียดายที่มักถูกมองข้าม
สภาพสังคมเมืองสมัยใหม่ ที่ไม่เอื้อต่อการมีพื้นที่ธรรมชาติในเมือง หรือกระทั่งพื้นที่โล่งแจ้ง รวมทั้งวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ก็ยิ่งทำให้เด็กๆ เติบโตมาภายใต้มีขอบเขตในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างจำกัด “ถูกกักขังความมีชีวิตชีวา” หรือความกลัวอันตรายของพ่อแม่ คุณศุภสิริ มีข้อเสนอให้พ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็ก ปลูกฝังการเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องเข้าป่า ศึกษาธรรมชาติ แต่ใช้วิธีชวนให้เด็กๆ สนใจใคร่รู้ในธรรมชาติ ที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก ฝึกให้เกิดการคิดตั้งคำถาม โน้มน้าวให้เกิดความสงสัย และหาคำตอบ
กิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากเนื้อหาในการพูดคุยกับวิทยากรบนเวทีแล้ว ยังได้มีการแสดงดนตรีธรรมชาติ ขับกล่อม และนำพาให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้กลับสู่การสัมผัสและเข้าถึงธรรมชาติ ผ่านเสียงจากเครื่องดนตรีพื้นบ้าน รวมทั้งเปิดให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนแนวคิดมุมมองที่น่าสนใจ โดยมีครูอาจารย์ที่จัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ เข้าถึงธรรมชาติ ร่วมแลกเปลี่ยน